นอกจากจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจแล้ว อาหารที่มีปริมาณโซเดียมเยอะหรือมีรสเค็มจัดนั้น ยังสามารถทำให้กระบวนการรับรู้และโต้ตอบของผู้สูงอายุลดลงด้วย
นักวิจัยจาก University of Toronto ได้ทำการติดตามพฤติกรรมการบริโภคเกลือและอาหารที่มีรสเค็มของประชากรวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 67-84 ปีจำนวน 1,262 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา พบว่าผู้ที่บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูงนั้น มีประสิทธิภาพทางเชาว์ปัญญาในระดับต่ำต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีการบริโภคโซเดียมในระดับต่ำถึงปกติ ซึ่งในผู้สูงอายุที่บริโภคโซเดียมมากๆนั้น ระบบการรับรู้ ความคิด รวมไปถึงการตอบสนองจะช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
ปริมาณเกลือหรือโซเดียมที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปคือ 2,300 มิลลิกรัม แต่จากผลการศึกษาพบว่าประชากรในช่วงอายุดังกล่าวในแคนาดาบริโภคโซเดียมเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ถึง 4 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง
ผลการศึกษาในครั้งนี้นับว่าเกี่ยวข้องและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตและอายุขัยของประชากรในยุคเบบี้ บูมเมอร์ ที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคของอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งอาหารฟาสต์ฟู้ดนี้มักจะมีปริมาณ ไขมันอิ่มตัวและโซเดียมสูงแต่มีเส้นใยอาหารต่ำ เป็นปฏิปักษ์ต่อการลดความอ้วน ทำให้เกิดคลอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น แถมยังมีผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ ระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ทางทีมนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมตัวลงอย่างรวดเร็วทั้งกระบวนการรับรู้ การคิดและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยให้ความรู้ความเข้าใจในโทษของการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่เกินขนาดว่ามีผลกระทบต่อสภาพร่างกายตนเองอย่างไร