ถั่วเป็นพืชมหัศจรรย์หลายอย่าง เช่น มีโปรตีนสูง มีไขมันชนิดดี มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำสูง การดูดซึมน้ำตาลจากถั่วเข้าสู่กระแสเลือดช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างช้าๆ สูงนาน ทำให้อิ่มนาน (ค่าดัชนีน้ำตาล หรือ glycemic index ต่ำ, เหมาะกับท่านที่ต้องการลดความอ้วน ควบคุมน้ำตาล)
นมถั่วเหลืองมีดีตรงที่ไม่มีน้ำตาลแลคโทส ทำให้คนที่ไม่มีน้ำย่อยน้ำตาลนมมากพอ ดื่มนมถั่วเหลืองได้สบายๆ
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ทำการศึกษาในหนูผอม และหนูอ้วน ผลการศึกษาพบว่า โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งพบมากในเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ มีส่วนช่วยป้องกันไขมันร้ายที่ชอบไปเกาะในเซลล์ตับในหนูอ้วน โดยลดไขมันในตับได้ 20%
แถมยังลดระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides / TG) ซึ่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายร้าย ที่ทำให้โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) แทรกซึมออกจากกระแสเลือด ผ่านผนังหลอดเลือด ไปสะสมเป็นคราบไขใต้ผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ และเพิ่มเสี่ยงหลอดเลือดตีบตัน
โรคไขมันเกาะตับ (fatty liver disease) ทำให้การทำงานของตับแย่ลง เพิ่มเสี่ยงเบาหวาน ตับอักเสบ และตับแข็ง
โรคอ้วน, อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม.ในผู้ชาย, 80 ซม.ในผู้หญิง), ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเพิ่มเสี่ยงไขมันเกาะตับ ซึ่งมักจะพบหลังดื่มหนัก หรือกินอาหารมื้อใหญ่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้ง-น้ำตาลสูง
การศึกษาก่อนหน้านี้จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ พบว่า การดื่มนมถั่วเหลือง 2 แก้ว/วัน ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ (hot flushes) หลังหมดประจำเดือนได้ 20%, และลดความรุนแรงของโลกได้ 26% อาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้นนาน 4 นาทีโดยเฉลี่ย ผู้หญิงบางรายมีอาการเหงื่อแตก และอาจรบกวนการนอนหลับ นับเป็นความทุกข์ใหญ่ของผู้ที่มีอาการนี้
วิธีเลือกนมถั่วเหลืองที่สำคัญ คือ ควรดูฉลากอาหาร
- น้ำตาลต่ำหรือไม่ – ชนิดเติมน้ำตาลมากไม่ค่อยดี
- ไขมันอิ่มตัว – นมถั่วเหลืองมีไขมันถั่วเหลือง ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวต่ำ, นมถั่วเหลืองที่มีไขมันอิ่มตัวสูง มักจะเติมครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันปาล์ม หรือเติมน้ำมันปาล์ม (ทำให้รสชาติหวานมันเพิ่ม แต่ไม่ดีกับสุขภาพ)
- เสริมแคลเซียมหรือไม่ – ชนิดเสริมแคลเซียมมีแนวโน้มจะดีกว่าชนิดไม่เสริม และควรเสริมให้ถึงระดับ 20-25% ของที่ร่างกายต้องการใน 1 วันจึงจะดี