Blog Post

Thanhphong Blog > News > สุขภาพ > แอลกอฮอล์ ดื่มให้พอดีก็เป็นยา…จริงหรือ?
Close up focused photo of glass with whiskey standing on the black table with blurred people on the background.

แอลกอฮอล์ ดื่มให้พอดีก็เป็นยา…จริงหรือ?

เคยสงสัยหรือไม่ เวลาที่นักดื่มบางคนกล่าวอ้างว่า ดื่มแอลกอฮอล์พอเป็นกระษัย ดื่มให้เป็นยา ดื่มแก้โรคความดัน หรือดื่มเพื่อให้หลับสบาย… ไม่ว่าจะเป็นยาดอง สุรา เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ สามารถช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เหล่านั้นได้จริงหรือไม่

ข้อมูลวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส หรือเฟรนช์พาราดอกซ์ (French Paradox) ทำให้วงการโภชนาการสั่นสะเทือนหลังประกาศว่าแอลกอฮอล์ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ หัวใจ จนเกิดข้อถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย งานวิจัยนี้ศึกษาในฝรั่งเศสที่คนดื่มไวน์เป็นประจำ แต่มีปัญหาโรคหัวใจน้อย ทั้งๆ ที่กินอาหารไขมันสูง ความดีจึงถูกยกให้กับสารแอนติ ออกซิแดนท์ในไวน์แดง แต่นักวิจัยเชื่อว่าสิ่งที่ป้องกันโรคหัวใจที่แท้จริงคือแอลกอฮอล์ในไวน์ ซึ่งน่าจะหมายความว่า ไม่ว่าเบียร์ ไวน์ หรือวิสกี้ อาจให้ประโยชน์ต่อหัวใจพอๆ กันถ้าดื่มพอควร

แอลกอฮอล์กับหัวใจ

ข้อดี นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดพบว่า แอลกอฮอล์ช่วยเพิ่มระดับเอชดีแอลซึ่งเป็นคอเลสเทอรอลที่ดี ลดการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ลดการดื้อต่ออินซูลิน ช่วยป้องกันโรคหัวใจสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และในผู้ที่มีประวัติหัวใจวายมาก่อน ปัจจุบันนักวิจัยชาวยุโรปเชื่อว่า แอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับระดับสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น สารซีอาร์พี หากทำให้สารนี้ลดลงจะป้องกันโรคหัวใจได้

ข้อเสีย การดื่มแอลกอฮอล์วันละ 3 แก้วขึ้นไปอาจทำให้อ้วน เพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก หัวใจล้มเหลว ดร.ร็อค แจ็คสัน นักระบาดวิทยาไม่เชื่อในข้อดีของแอลกอฮอล์ เพราะข้อมูลการวิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์ผลได้ว่าแอลกอฮอล์ให้ผลดีต่อหัวใจจริง

Senior woman sitting at a table in a summer cafe and drinking beer from a tall glass

แอลกอฮอล์และสมอง

ข้อดี การดื่มพอควรช่วยป้องกันความเสี่ยงอัลไซเมอร์และความจำเสื่อม เมื่อนักวิจัยแห่งศูนย์การแพทย์เบธอิสราเอดีคอเนสในรัฐบอสตัน เปรียบเทียบผู้ที่ไม่ดื่มเลยกับผู้ที่ดื่มสัปดาห์ละ 1 – 6 ดริ๊งค์ โดยใช้อาสาสมัคร 6,000 คน พบว่าผู้ที่ดื่มมีความเสี่ยงโรคความจำเสื่อมน้อยกว่า งานวิจัยจากฮาร์วาร์ดยังแสดงว่า ผู้หญิงที่ดื่มวันละดริ๊งค์มีความเสี่ยงจากสโตรคชนิดหลอดเลือดแดงอุดตัน เพียงครึ่งเดียว

ข้อเสีย การดื่มมากเร่งให้สมองเสื่อมเร็ว ร่างกายขาดวิตามินบี 1 ถ้ารุนแรงอาจทำให้ความจำ การเรียนรู้ลดลง เพิ่มความเสี่ยงสโตร๊คหรือภาวะเสี่ยงอันตรายอันเกิดจากสมองไม่ได้รับ ออกซิเจนอย่างเพียงพอ

แอลกอฮอล์และเบาหวาน

ข้อดี การดื่มในระดับน้อยถึงปานกลางช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานลงได้ 36 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังลดความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานด้วย

ข้อเสีย ทำให้อ้วน เพราะแอลกอฮอล์ให้แคลอรีสูง ซึ่งอาจนำมาสู่โรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจผู้ดื่มหนักอาจเสี่ยงโรคเมตาโบลิกซินโดรม (อ้วนลงพุงร่วมกับร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูงคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง รวมทั้งอันตรายต่อตับ) โดยเฉพาะในผู้ที่เริ่มดื่มเมื่ออายุยังน้อย

แอลกอฮอล์และโรคมะเร็ง

ข้อดี ไวน์แดงและเบียร์ดำมีสารพอลิฟีนอล ซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนท์สูง (เช่นเดียวกับผลไม้ ผักและชา) ช่วยป้องกันมะเร็งได้ ฮ็อปซึ่งใช้ผลิตเบียร์มีสารแอนติออกซิแดนท์ที่ชื่อว่า แซนโทฮูมอล (xanthohumol) ช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งและเพิ่มฤทธิ์เอนไซม์ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้าน มะเร็ง

ข้อเสีย การดื่มมากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งในช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะ ตับ เต้านม และลำไส้ใหญ่ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาเน้นว่า การดื่มเพียงวันละดริ๊งค์ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้แล้ว

Attractive bartender girl holding in her hands fresh cocktail at the bar counter for celebration

แอลกอฮอล์และกระดูก

ข้อดี การกินอาหารที่มีซิลิคอนสูงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกสะโพก ป้องกันกระดูกแตกหักนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟพบว่าเบียร์มีสารซิลิคอนสูง ซึ่งช่วยสะสมแคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ ในกระดูก

ข้อเสีย ซิลิคอนพบมากในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสีและผักประเภทหัว จึงไม่จำเป็นต้องดื่มจากเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์รบกวนการสร้างกระดูกและการทำงานของแคลเซียม วิตามินดี และฮอร์โมนเอสโทรเจน จึงเพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุนและทำให้กระดูกแตกหักจากการหกล้มได้ง่าย

ความอ้วนกับแอลกอฮอล์

แคลอรี จากแอลกอฮอล์มักสะสมที่พุงมากกว่าแคลอรีจากอาหารชนิดอื่นๆ แต่การดื่มน้อยกลับเป็นผลดีในการลดพุงได้ แต่ต้องเป็นวันละ 1 ดริ๊งค์เท่านั้น งานวิจัยจากคลินิกเมโยในผู้ใหญ่ 8 – 200 คน พบว่าผู้ที่ดื่มวันละดริ๊งค์ลดความเสี่ยงพุงพลุ้ยลงถึง 54 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม แต่การดื่มมากกว่า 4 ดริ๊งค์ขึ้นไปเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน 46 เปอร์เซ็นต์ เพราะแคลอรีที่ได้จากอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกายยกเว้นว่า เพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น

ไวน์แก้วขนาด 150 มิลลิลิตรหรือเบียร์ประมาณ 360 มิลลิลิตร (1 กระป๋อง) ให้พลังงานเฉลี่ย 100 – 150 กิโลแคลอรี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผสมเครื่องดื่มอย่างอื่นอาจมีพลังงานสูงถึงหลายร้อย กิโลแคลอรี ยิ่งกว่านั้น เมื่อเวลาที่ดื่มสังสรรค์มักจะมีอาหารที่มีแคลอรีสูงกินร่วมด้วย จึงทำให้อ้วนได้ง่าย

สรุปแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณสามารถให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้จริง แต่ไม่จำเป็นที่ต้องแนะนำให้ดื่มเพื่อสุขภาพ ผู้ที่ควรงดได้แก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรผู้มีปัญหาไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ตับอ่อนอักเสบหัวใจล้มเหลว หรือผู้รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยในการดื่มด้วย เพราะแอลกอฮอล์อาจมีผลรบกวนต่อการทำงานของยา 

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *