ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากใครติดตามสถานการณ์เรื่องของมะเร็งเราคงได้เห็นถึงอันตรายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างข่าวที่กรมอนามัยได้ออกมาเผยว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 1 คน หรือคิดง่ายๆ เฉลี่ยวันละ 12 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถิติของมะเร็งเต้านมเขายังมาแรงเสมอ
ขณะที่สถานการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลกก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะการตรวจสุขภาพทั่วไป รวมทั้งการตรวจเลือดเราจะไม่พบมะเร็งชนิดนี้แต่อย่างใด ทำได้เพียงสังเกตอาการ ว่ามีก้อนเนื้อในบริเวณต่างๆ หรือไม่ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ
แนวทางสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การป้องกัน หรือถ้าเป็นก็ต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งการกินก็เป็นวิธีการป้องกันที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า You are what you eat กินอะไรได้แบบนั้นกันมาบ้างแล้ว มะเร็งก็เช่นกันนอกจากกรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ “อาหาร” นั่นเอง แล้วกินแบบไหนที่จะทำให้เราเกิดมะเร็งได้ล่ะ
อาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
1) ผัก ผลไม้ ที่สารเคมีตกค้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่า สารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคมะเร็งได้ การป้องกันรู้สึกว่าทำได้ยากแสนยาก แต่การล้างผักผลไม้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเราได้ เช่น ล้างผ่านน้ำ ล้างด้วยด่างทับทิม หรือน้ำยาล้างผัก ฯลฯ อย่ากินผักผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำซาก เพราะจะทำให้เรามีโอกาสรับสารเคมีจากผักชนิดนั้นมากขึ้น ควรกินผักผลไม้ตามฤดูกาล หรือกินผักพื้นบ้าน เพราะพืชผักเหล่านี้จะมีแมลงรบกวนน้อย จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี
นอกจากนี้ ยังให้คุณค่าทางอาหารสูง แถมมีสรรพคุณยับยั้งมะเร็งได้ เพราะอย่างน้อยผัก ผลไม้มีเส้นใยอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหาร และการขับถ่ายอยู่ในสภาวะสมดุล ในปัจจุบัน หากผักผลไม้พื้นบ้านหาทานได้ยาก แนะนำให้เลือกทานผักออร์แกนิก หรือผักอินทรีย์
2) ย่างๆ ทอดๆ น้ำมันทอดซ้ำ ให้เลี่ยง
เป็นที่ทราบกันดีว่าเนื้อสัตว์นั้นถือเป็นตัวการสำคัญของ “มะเร็ง” จากการวิจัยค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าการเกิดมะเร็ง มีกระบวนการหลายขั้นตอน สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค นั่นคือการได้รับสารก่อกลายพันธุ์ และสารก่อมะเร็งในอาหารรมควัน และอาหารปิ้ง ย่าง และทอด ซึ่งพบว่ามีสารพิษปนอยู่หลายชนิด อาหารที่ถูกทำให้สุกโดยให้ความร้อนโดยตรงบนอาหาร ได้แก่ เนื้อย่าง ปลาหมึกย่าง ไก่ย่าง บาร์บีคิว ปลาเผา ปลาย่าง ไส้กรอกปิ้ง หมูปิ้ง เป็นต้น
จากการศึกษาพบว่าอาหาร เหล่านี้ มีสารพัดสารพิษที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น สารไนโตรซามีน ก่อให้เกิดมะเร็งในตับ ไต หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร นอกจากนี้สารบางอย่างที่ใช้ปรุงรสอาหารอาจเป็นตัวการเพิ่มการเกิดไนโตรซามีนได้ เช่น พริกและพริกไทย สารกลุ่ม พัยโรลัยเซต พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์สูงมาก บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรม มากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า ส่วนน้ำมันทอดซ้ำ ที่ทำให้เกิดไขมันทรานซ์ ก็ร้ายไม่เบาเช่นกัน
ล่าสุด เนื้อกระทะหรือหมูกระทะ ก็มีรายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ที่ร่วมกับสถาบันป้องกันมะเร็งแห่งแคลิฟอร์เนีย ว่า เนื้อย่างที่ให้ความร้อนสูงผ่านกระทะเหล็กนั้นเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก 40% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อแดงที่นำมาย่างแล้วกินอย่างเอร็ดอร่อยล้วนเสี่ยงต่อมะเร็งทั้งสิ้น
3) ปลามีเกล็ด (ดิบ)
พฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดดิบ เช่น ก้อย ลาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคอีสานนั้น ยังคงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ คนที่กินปลาดิบเป็นสาเหตุสำคัญของพยาธิใบไม้ในตับเมื่อเกิดพยาธิใบไม้ในตับแล้วจะนำไปสู่การอักเสบของตับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่มะเร็งตับและท่อน้ำดี นอกจากนี้ การทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ไนโตรซามีนที่พบในอาหารประเภทเนื้อหรือปลาที่มีการผสมหมัก ดองด้วยเกลือไนเตรตหรือดินประสิว เช่น ปลาร้าดิบ ปลาส้ม แหนม ยังเป็นตัวการสำคัญของการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน
4) อะฟลาท็อกซิน
สารนี้ถูกจัดอันดับเป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งในโลก มักพบในผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ถั่วลิสง ถั่วชนิดอื่นๆ รวมถึงข้าวและข้าวโพด พบในแป้งต่างๆ เช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง และอาหารอบแห้ง เช่น พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย งา ปลา แห้ง กุ้งแห้ง กระเทียม หัวหอม ผักและผลไม้อบแห้ง เครื่องเทศ หรือแม้แต่สมุนไพร ชา ชาสมุนไพร ถั่ว ถั่วเมล็ดรูปไต และกาแฟคั่วบด ที่สำคัญคือแม้จะนำอาหารเหล่านี้มาผ่านความร้อนก็ไม่ทำให้อะฟลาท็อกซินสะดุ้งสะเทือนได้ เพราะสารพิษนี้ทนความร้อนสูงถึง 260 องศาเซลเซียส
เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาเล่าให้ฟังในฉบับนี้ ถึงพิษภัยและอันตรายจากการกินที่อาจนำไปสู่ “มะเร็ง” ได้ การเลือกกินจึงเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันที่เราสามารถทำได้