นักวิจัยออสเตรเลียพบว่า ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอาจเป็นสาเหตุให้เด็กปัสสาวะรดที่นอน นอกจากนี้ยังอาจเป็นสาเหตุของโรคช้ำรั่วในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง: โรคเมลิออยด์คืออะไร? วิธีป้องกันและรักษาโรคเมลิออยด์
ฉี่รดที่นอนเกี่ยวข้องกับการหายใจได้อย่างไร?
การศึกษาชิ้นก่อนหน้านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กหลายคนหายจากการปัสสาวะรดที่นอนหลังรับการตัดต่อมทอนซิลหรือกระดูกอ่อนในจมูก ขณะที่การศึกษาชิ้นล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิวไซแอนทิสต์ระบุว่า การที่มีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้เช่นกัน
ดร. ดีเร็ค มาโฮนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟันที่โรงพยาบาลปรินซ์ออฟเวลส์ในซิดนีย์ ออสเตรเลียกล่าวว่า เด็ก 8 ใน 10 คน ที่ถูกส่งตัวมาหาเขาเพราะปัสสาวะรดที่นอนไม่หาย เป็นเด็กที่มีเพดานปากแคบ ดร.มาโฮนี อธิบายว่าเด็กที่มีเพดานปากแคบ ลิ้นจะถูกดันไปด้านหลัง และอาจกีดขวางทางเดินหายใจได้ขณะนอนหลับ และแนะนำให้เด็กที่มีปัญหาดังกล่าวใช้อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายลวดจัดฟัน ช่วยทำให้เพดานปากกว้างขึ้น
การศึกษาชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวสวีเดนพบว่า 7 ใน 10 คนของเด็กที่มีปัญหาปัสสาวะรดที่นอนและรักษาด้วยวิธีใด ๆ ก็ไม่หาย มีอาการดีขึ้นหลังใช้ลวด และมีเด็กที่เลิกปัสสาวะรดที่นอนไปเลย 4 คน ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นของนักวิจัยอังกฤษพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 10 คนหายจากอาการดังกล่าวหลังใช้ลวดช่วย และล่าสุดดร.มาโฮนีกำลังจะทำการศึกษารูปแบบการนอนของเด็ก 100 คน เพื่อหาความเกี่ยวพันกับการปัสสาวะรดที่นอน
แม้จะยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างปัญหาการหายใจและการปัสสาวะรดที่นอน นักวิจัยกล่าวว่า ปัญหาการหายใจอาจสร้างแรงกดดันให้กับช่องท้อง กระตุ้นให้มีการปัสสาวะ นอกจากนี้ปัญหาการหายใจอาจทำให้ความเข้มของอ็อกซิเจนในกระแสเลือดลดลง ซึ่งอาจมีผลกับระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ