ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นระบุในรายงานพิเศษ “สตรี สงคราม และสันติภาพฯ” กว่า 70% ของเหยื่อสงครามยุคใหม่เป็นพลเรือน ขณะที่เรือนร่างของผู้หญิงกลายเป็นสนามรบ และตกเป็นเครื่องมือสร้างความอับอาย
หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้สั่งการให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ศึกษาผลกระทบของสงครามต่อชีวิตสตรี และบทบาทในการสร้างสันติภาพ ซึ่งกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือยูนิเฟม (UNIFEM) ได้ลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์ในพื้นที่สงคราม 14 แห่งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ เอเชีย และยุโรปตะวันออก
โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้อำนวยการบริหารยูนิเฟม กล่าวถึงรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า “สตรี สงคราม และสันติภาพ: ผลกระทบของสงครามและบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพ จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญอิสระ” ในโอกาสการเสวนาเปิดตัวรายงานฉบับนี้ที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยว่า จากรายงานทำให้ได้ค้นพบ ว่า “ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของสงคราม”
นอกจากนี้ความขัดแย้งในยุคปัจจุบันยังได้เปลี่ยนรูปแบบจากการสู้รบระหว่างทหาร มาเป็นการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ บ่อยครั้งที่ผู้หญิงเป็นเหยื่อของการข่มขืน ทารุณกรรม ที่มุ่งสร้างความอับอายให้กับตัวผู้หญิงเอง สามี ครอบครัว และชุมชน
เฮย์เซอร์ในฐานะประธานการแถลงข่าว กล่าวโดยอ้างอิงเนื้อหาจากรายงานว่า ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญทั้งในช่วงสงครามและหลังการสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการฟื้นฟูประเทศและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา และเคลื่อนไหวเป็นผู้นำชุมชน ในช่วงที่ผู้ชายส่วนใหญ่ไปปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบหรือถูกสังหารเสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของสังคม
แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้หญิงกลับมีบทบาทในการแก้ปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานระหว่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิสตรีให้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง และกระบวนการฟื้นฟูประเทศในช่วงหลังสงคราม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม
ข้อเสนอแนะดังกล่าว ถูกเน้นย้ำโดยเคลลี แอสคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวจากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์หลังสงครามว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามีส่วนร่วมในทุก ๆ ด้านของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในฐานะล่าม ทนาย หรืออัยการ โดยเฉพาะในคดีข่มขืนหรืออาชญากรรมสงครามอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงกล้าที่จะเรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเองมากขึ้น และทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า ความอับอายและตราบาปจากสังคมนั้นควรตกอยู่ที่อาชญากรผู้กระทำผิด และไม่ใช่ภาระที่ผู้ถูกกระทำต้องแบกรับไว้
ด้านนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” นักคิด นักวิจารณ์สังคมของไทยซึ่งร่วมการเสวนาครั้งนี้ ก็ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำข้อเสนอแนะในรายงานดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติจริง
ทั้งนี้ ส.ศิวลักษณ์ ระบุว่าหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น คือการรับฟังเสียงของประชาชนระดับล่าง นอกจากนี้ผู้หญิงเองควรสร้างบทบาทอันเป็นเอกลักษณ์ของตน โดยดึงลักษณะเฉพาะของผู้หญิงซึ่งมักจะมีความเมตตา กรุณา มากกว่าผู้ชายออกมาใช้ให้มากขึ้น พร้อมปิดท้ายด้วยคำกล่าวขององค์ดาไลลามะว่า สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เกิดสันติภาพภายในจิตใจก่อน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งซึ่งถูกหยิบยกขึ้นหารือในการเสวนาครั้งนี้ คือ การมีส่วนร่วมของผู้ชายในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ซึ่งอิวิเต้ โอลิเวรา ผู้แทนองค์กรอิสระจากติมอร์ตะวันออกระบุว่า สันติภาพที่แท้จริงนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากความร่วมมือจากผู้ชายโดยเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว ขณะที่แอสกินเสริมว่า แท้จริงแล้วผู้ชายคือผู้ที่ควรมีบทบาทนำ และพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ชายสามารถใช้อำนาจที่มีเหนือกว่าในการปกป้องผู้หญิงได้
รายงานเรื่อง “สตรี สงคราม และสันติภาพ: ผลกระทบของสงครามและบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพ จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญอิสระ” ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง โดยเอลิซาเบ็ท เรห์น จากฟินแลนด์ และเอลเลน จอห์นสัน เชอรีฟ จากไลบีเรีย เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระสองคนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ยูนิเฟมให้ศึกษาและประเมินผลในหัวข้อดังกล่าว โดยทั้งคู่ได้เข้าศึกษาสถานการณ์ในพื้นที่สงคราม 14 แห่งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ เอเชีย และยุโรปตะวันออก